จากการศึกษารหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) อย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้มีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 800 ชนิด โดยบางสายพันธุ์นั้นสามารถแพร่กระจายโรคได้รวดเร็วกว่า รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและอาจไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
พบ 3 สายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 มีการกลายพันธุ์
ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา มีการรายงานการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันโรคที่สำคัญรวม 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ
สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือ N501Y จากประเทศอังกฤษ
สายพันธุ์ B.1.351 หรือ 501Y.2 จากประเทศแอฟริกาใต้
สายพันธุ์ P1 จากประเทศบราซิล โดยพบครั้งล่าสุดในผู้โดยสารที่เดินทางในสนามบินประเทศญี่ปุ่น
จากข้อมูลในฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 ใน GISAID พบว่าประเทศไทยมีการรายงานรหัสพันธุกรรมของไวรัสแบบทั้งจีโนม (Whole Genome) รวม 460 sequences จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศทั้งสิ้น 13,302 คน หรือร้อยละ 3.46 (ข้อมูล ณ วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564) สายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่พบคือ กลุ่ม clade S โดยได้ตัวอย่างมาจากผู้ป่วยที่พบการระบาดในประเทศไทยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนและได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี PCR เพื่อการรักษาโรคแต่ไม่ได้นำมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อศึกษาสายพันธุ์ไวรัสการกลายพันธุ์ของไวรัสจึงจำเป็นต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะบางกรณีอาจจะส่งผลต่อการกระจายตัวของไวรัสตลอดจนระดับความรุนแรงของโรค อีกทั้งการวินิจฉัยยังทำได้จากการตรวจทางห้องปฏิบัติกาเท่านั้น ดังนั้นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิดจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ