โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท
เบาหวานมีกี่ประเภท
1. เบาหวานประเภทที่ 1 (เบาหวานชนิดพึ่งอินสุลิน)
2. เบาหวานประเภทที่ 2 (เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน)
3. เบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคของตับอ่อน โรคทางพันธุกรรม โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมน
4. เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบเบาหวานชนิดที่ 2 มากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 95
สาเหตุของโรคเบาหวาน
เบาหวานสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ก็จริง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ) เป็นเบาหวาน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเบาหวานทุกคน
มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ได้แก่
1. โรคอ้วน ทำให้การตอบสนองของเนื้อเยื่อร่างกายต่ออินสุลินไม่ดี
2. ผู้สูงอายุ การสังเคราะห์และการหลั่งฮอร์โมนอินสุลินลดลง
3. การได้รับยาบางชนิด สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้น หรือการตอบสนองของอินสุลินไม่ดี
4. การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนจากรกหลายชนิดมีผลยับยั้งการทำงานของอินสุลิน
อาการของโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่มีอาการใดๆ โดยทั่วไปจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก มีอาการหิวบ่อยรับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง ชาปลายมือ ปลายเท้า ตามัว
วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้อย่างไร
การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้โดย
1. ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจนคือ หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องออาหาร ถ้ามีค่ามากกว่า หรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืนมากกว่า 8 ชั่วโมง พบค่า มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ให้ตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ต่างวันกัน
3. การตรวจความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (75 g Oral Glucose Tolerance Test, OGTT) ใช้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ตรวจพบน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืน น้อยกว่า 126 มก./ดล. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคสมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ให้การวินิจฉัยว่า “เป็นโรคเบาหวาน”
หมายเหตุ ในการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลพลาสมากลูโคสให้งดอาหารอย่างน้อย 8-10 ชม. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือลูกอม แต่ดื่มน้ำเปล่าได้
ผู้ใดควรได้รับการตรวจเช็คเบาหวาน
I. ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น
II. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
ไม่มีอาการแต่อายุเกิน 35 ปี
ญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
น้ำหนักจัดอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วน
เคยแท้งหรือบุตรเสียชีวิตตอนคลอด
คลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม.
เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์ทุกราย (อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 24-28 สัปดาห์)
ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง